วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556

รากฟันเทียม

รากฟันเทียม  เป็นวิวัฒนาการทางทันตกรรมที่กำเนิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆที่พบในการใส่ฟันปลอม เพื่อให้ได้ฟันที่มีสภาพใกล้เคียงฟันธรรมชาติ ทั้งด้านความแข็งแรงและความสวยงาม โดยการฝังวัสดุที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับรากฟันและทำมาจากโลหะไทเทเนียม (Titanium) ลงบนกระดูกขากรรไกรเพื่อรองรับการใส่ฟันปลอมภายในช่องปาก ทั้งชนิดที่ถอดได้และติดแน่น (Removable and fixed partial denture) นอกจากนี้ปัจจุบันยังได้มีการพัฒนาการฝังรากเทียมบริเวณภายนอกช่องปากด้วย เพื่อให้การรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วย ที่มีความพิการของใบหน้าและศีรษะ (Craniofacial Deformity) แต่เดิมทีนั้น เวลาทันตแพทย์ทำการใส่ฟันปลอมให้ผู้ป่วยนั้น จะทำได้เพียงทดแทนส่วนของตัวฟันที่อยู่เหนือเหงือกเท่านั้น ไม่สามารถทดแทนส่วนของรากฟันที่อยู่ในกระดูกได้ ทำให้กระดูกขากรรไกรเกิดการละลายตัว เนื่องจากการที่กระดูกขากรรไกรจะคงสภาพอยู่ได้นั้น จะต้องมีแรงกระตุ้นจากการบดเคี้ยวส่งแรงผ่านไปยังรากฟันเข้าไปในกระดูกขากรรไกร ซึ่งภายในกระดูกนี้จะมีเซลล์สร้างกระดูกอยู่ จึงมีการสร้างกระดูกทดแทนส่วนที่ถูกละลายไปตลอดเวลากระดูกจึงคงสภาพอยู่ได้ แต่ถ้าเราถอนฟันออกไป แล้วใส่ฟันปลอมไม่ว่าจะเป็นฟันปลอมถอดได้หรือติดแน่น หรือไม่ใส่เลย แรงที่ลงไปบริเวณกระดูกจะอยู่ที่บริเวณผิวนอกไม่สามารถส่งผ่านแรงไปยังกระดูกได้ ทำให้ไม่มีการสร้างกระดูกทดแทน เกิดการละลายตัวและเล็กลงไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ในการใส่ฟันปลอมนั้นจำเป็นต้องใช้ฟันซี่อื่นๆช่วยในการยึดหรือรับน้ำหนักฟันปลอม ต้องมีการตัดทำลายเคลือบฟันซี่ข้างเคียง เพื่อเปลี่ยนให้เป็นครอบฟัน ทำให้ต้องเสียฟันเพิ่มขึ้น หรือบางครั้งผู้ป่วยถอนฟันไปหลายซี่ทำให้ไม่สามารถทำฟันปลอมติดแน่น ก็จำเป็นต้องใส่ฟันถอดได้แทน รากเทียมจึงได้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้

ขอบเขตการรักษา

  • ผู้ป่วยที่มีสภาพไร้ฟันบางส่วน และต้องการใส่รากฟันเทียมเพื่อทำฟันปลอมชนิดติดแน่น
  • ผู้ป่วยที่มีสภาพไร้ฟันทั้งปาก และต้องการใส่ฟันปลอมติดแน่น แต่มีปัญหาเรื่องฟันปลอมหลุดง่าย
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ไม่รุนแรงหรือสามารถควบคุมได้ และไม่มีปัญหาในการฝังรากฟันเทียม

การเตรียมตัวก่อนการรักษา

การซักประวัติทางการแพทย์ ตรวจวินิจฉัยในช่องปาก พิมพ์แบบฟัน รวมทั้งการถ่ายภาพรังสีที่จำเป็น เพื่อดูสภาพของสันเหงือกและกระดูกขากรรไกร เพื่อให้ทันตแพทย์สามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสมว่า ควรเลือกการรักษาด้วยการทำทันตกรรมรากเทียมสำหรับท่าน หรือไม่
 
     1. กรณีที่ทำเพื่อแทนที่ฟันซึ่งสูญเสียไปบางซี่ อาจเนื่องจากฟันผุ อุบัติเหตุ หรือโรคปริทันต์
     2. กรณีที่ทำเป็นฐาน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงสำหรับฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปาก
 

สภาพที่ไม่สามารถฝังรากเทียมได้

  • ผู้ป่วยที่มีโรคที่มีผลต่อการหายของแผลได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวานซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ (UNCONTROLLED DIABETES) การหายของแผลช้า และเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ส่วนในผู้ป่วยเบาหวานที่สามารถควบคุมได้โดยอยู่ในความดูแลของแพทย์ก็สามารถที่จะทำได้ โรคอีกชนิดหนึ่งได้แก่ โรคเลือด (LEUKEMIA) หรือโรคที่มีความผิดปรกติของต่อม parathyroid สูง (HYPERPARATHYROIDISM) หรือในบุคคลที่ได้รับการฉายแสงในการรักษาโรคมะเร็ง ในผู้ป่วยพวกนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากแพทย์ก่อนว่าอยู่ในสภาพที่จะสามารถทำรากเทียมได้หรือไม่
  • ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ควรรอให้คลอดเสียก่อน
  • ผู้ป่วยโรคจิตเช่น พวกที่มีความเครียดเรื้อรัง หรือพวกที่มีการเปลี่ยนแปลงทางบุคลิกภาพ ควรหลีกเลี่ยงการทำรากเทียมก่อน เพราะอาจเพิ่มสภาวะเครียดให้ผู้ป่วยชนิดนี้ได้
  • ผู้ป่วยที่ขาดความสามารถในการควบคุมกล้ามเนื้อซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำความสะอาดในช่องปาก และการดูแลเหงือกและฟันรอบๆรากฟันเทียม (implant) ให้มีสภาพที่ดี รวมทั้งโรคไขข้ออักเสบชนิดรุนแรง (Severe Arthritis) หรือผู้ป่วยที่พิการ (Handicap)

ขั้นตอนการผ่าตัด

  • ก่อนอื่นทันตแพทย์จะทำการซักประวัติเพื่อดูว่ามีโรคประจำตัวหรือภาวะที่ขัดต่อการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมหรือไม่
  • ทันตแพทย์จะตรวจสภาพช่องปากเพื่อวางแผนการรักษา ดูว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ มีกระดูกขากรรไกรเพียงพอต่อการฝังรากฟันเทียมหรือไม่
  • สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง คือ แบบจำลองฟันและภาพรังสีเอ็กซเรย์
  • ทันตแพทย์ต้องอธิบายผู้ป่วยให้เข้าใจถึงการวางแผนการรักษา เกี่ยวกับจำนวนและตำแหน่งในการฝังรากฟันเทียม ประเภทของฟันปลอม ระยะเวลาในการรักษา ค่าใช้จ่าย การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ นำข้อดีข้อเสียของวิธีต่างๆมาเปรียบเทียบกัน สิ่งเหล่านี้ต้องแจ้งรายละเอียดให้ผู้ป่วยทราบทั้งหมด เพื่อให้ผู้ป่วยได้ตัดสินใจในการวางแผนการรักษา
  • หากมีปัญหาในช่องปากที่ต้องได้รับการแก้ไขก็ต้องทำให้เรียบร้อยก่อน ถ้าไม่พอจะต้องเสริมกระดูกให้เรียบร้อยก่อน จากนั้นก็รอให้กระดูกที่เสริมมีการเชื่อมติดกับกระดูกเดิมให้ดีก่อน โดยมากจะใช้ระยะเวลา 4 - 6 เดือนจึงจะทำการฝังรากฟันเทียมได้

การดูแลรักษา

การดูแลรักษาความสะอาดรากเทียมก็เหมือนกับการดูแลรักษาฟันธรรมชาติไม่แตกต่างกัน ต้องแปรงฟันให้ถูกวิธี ใช้ไหมขัดฟัน ทำความสะอาดตามซอกฟัน หมั่นตรวจเช็คฟันทุกๆ 6 เดือน ไม่ควรสูบบุหรี่ เพราะคราบบุหรี่ที่ไปเกาะที่รากเทียม อาจทำให้กระดูกที่อยู่รอบๆรากเทียมเกิดการอักเสบ กระดูกละลาย สุดท้ายรากเทียมจะโยกและหลุดในที่สุด เมื่อไปพบทันตแพทย์ต้องแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบว่ามีรากเทียมซี่ใดอยู่ในปาก เพื่อที่ทันตแพทย์จะหลีกเลี่ยงไม่ใช้เครื่องมือที่เป็นโลหะแสตนเลสไปขูดถูกรากเทียม เครื่องมือที่จะใช้ในการทำความสะอาดรากเทียมได้ มีอยู่ 3 ประเภท คือ ทอง ไทเทเนียม พลาสติก เพื่อป้องกันรากเทียมเกิดรอยขีดข่วน อันเป็นสาเหตุให้มีการสะสมของเชื้อโรคและทำให้กระดูกรอบๆอักเสบ

ข้อดีของรากฟันเทียม

  • เพื่อทดแทนฟันที่ถอนไปบางซี่ได้สวยงามเหมือนฟันธรรมชาติ
  • เลียนแบบโครงสร้างฟันธรรมชาติ สามารถใช้งานได้เหมือนฟันแท้
  • ไม่สูญเสียเนื้อฟันธรรมชาติของฟันข้างเคียงที่เหลืออยู่
  • เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดติดของฟันปลอมในช่องปาก

ข้อเสียของรากฟันเทียม

  • ค่าใช้จ่ายแพงเพราะเทคโนโลยี่ทั้งหมดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เครื่องมือมีราคาแพง ค่ารักษามักจะสูงกว่า 4 หมื่นบาทขึ้นไปจนถึง 7 หรือ 8 หมื่นบาทต่อซี่ขึ้นอยู่กับสถานที่ ทันตแพทย์ รวมถึงระบบของรากฟันเทียมที่ใช้ ถ้าผู้ป่วยมีกระดูกไม่แข็งแรงหรือไม่เพียงพอก็ต้องผ่าตัดเพื่อเสริมกระดูกทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบในระยะยาวแล้วการทำรากฟันเทียมมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาหรือแก้ไขที่ต่ำกว่า เนื่องจากแข็งแรง อายุการใช้งานนานกว่าฟันปลอมประเภทอื่นๆ หลายเท่า
  • การผ่าตัดเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยกังวลใจมากที่สุด โดยเฉพาะตอนผ่าตัดฝังรากฟันเทียม อาจต้องมีการผ่าตัดหลายครั้งถ้าต้องผ่าตัดเสริมกระดูก
  • ระยะเวลานานใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 4 - 6 เดือน ถ้าต้องเสริมกระดูกอาจใช้เวลานาน 9-12 เดือน
  • ความต้านทานต่อเชื้อโรคแม้ว่ารากฟันเทียมมีลักษณะใกล้เคียงฟันธรรมชาติมาก แต่มีความต้านทานต่อเชื้อโรคต่ำกว่า จึงต้องดูแลรักษาความสะอาดให้ดี เพราะถ้ากระดูกรอบๆรากฟันเทียมอักเสบ อัตราการละลายตัวของกระดูกจะเร็วกว่าและรุนแรงกว่าฟันธรรมชาติ
  • ไม่สามารถทำได้ในทุกกรณีเช่น สภาพเหงือกหรือกระดูกขากรรไกรไม่เหมาะสม หรือมีโรคทางระบบบางชนิด เช่น โรคเบาหวานที่ยังไม่ควบคุม

ปัญหาในการฝังรากฟันเทียม

  • รากฟันเทียมไม่ยึดติดกับกระดูกทำให้รากฟันเทียมไม่มีความเสถียรโยกไปมาได้ เกิดความล้มเหลว
  • เหงือกร่นเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากกระดูกละลายตัวอาจจะละลายมากหรือน้อยก็ได้ ถ้าเป็นมากผู้ป่วยอาจต้องรับการผ่าตัดแก้ไข
  • ฝังรากฟันเทียมไม่ตรงตำแหน่งมักเกิดจากกระดูกรองรับมีน้อยเกินไป ทำให้ต้องไปฝังในตำแหน่งอื่นที่มีกระดูก ปัญหานี้แก้ไขโดยการผ่าตัดเสริมกระดูกก่อนการฝังรากฟันเทียม หรือถ้าตำแหน่งไม่ผิดพลาดมากจนเกินไป อาจแก้ไขโดยการออกแบบฟันปลอมให้รับกับตำแหน่งที่ฝังก็ได้
  • รากฟันเทียมหักพบได้น้อยมาก อาจเกิดจากฝังรากฟันเทียมไม่ตรงตำแหน่ง ใช้รากฟันเทียมขนาดเล็กเกินไป หรือจากรอยร้าวในตัวรากเทียมเอง โดยปกติในช่วง 2 ปีแรกของการทำรากฟันเทียม เป็นช่วงที่เสี่ยงต่อความล้มเหลวสูงที่สุด คือ กว่า 90 % ของรากเทียมที่มีปัญหาจะเกิดใน 2 ปีแรก ดังนั้นหากฝังรากฟันเทียมนานกว่า 2 ปี ผู้ป่วยก็สามารถวางใจได้ว่าไม่น่าจะมีปัญหา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาความสะอาดสุขภาพของช่องปากด้วย